สูญเสียการรับกลิ่น การฝึกดมกลิ่นที่ผู้ป่วยคุ้นเคยบ่อยๆ olfactory training

สูญเสียการรับกลิ่น Anosmia (Smell disturbance)

ประสาทสัมผัสมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต และสามารถใช้ประกอบการวินิจฉัยภาวะผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายได้ การได้รับหรือสัมผัสกับสารเคมี, ยา ตลอดจนกาารเกิดโรคบางชนิดก็มีผลทำให้ประสาทสัมผัสของการได้รับกลิ่นเสียไป (Anosmia) หรือความไวในการรับกลิ่นลดลง (Hyposmia) ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งชั่วคราวและถาวรขึ้นอยู่กับว่า olfactory receptor หรือ olfactory pathway ถูกทำลายหรือเปล่า

สาเหตุของจมูกไม่ได้กลิ่น หรือได้กลิ่นน้อยลง ส่วนใหญ่เกิดจาก อุบัติเหตุที่ศีรษะ, การติดเชื้อไวรัสจากการเป็นหวัด โรคของโพรงจมูก และไซนัส เช่น จมูกอักเสบชนิดภูมิแพ้ และไม่แพ้, ไซนัสอักเสบ, ริดสีดวงจมูก และเนื้องอก เป็นต้น ในกรณีที่สาเหตุของการสูญเสียการรับกลิ่น เกิดจากเชื้อไวรัส หรืออุบัติเหตุที่ศีรษะ หรือสาเหตุใดๆ ก็ตาม

การฝึกดมกลิ่นที่ผู้ป่วยคุ้นเคยบ่อยๆ (olfactory training) มีการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่มีการสูญเสียการรับกลิ่นจากสาเหตุดังกล่าว ถ้ามีสภาพของโรครุนแรงไม่มาก ผู้ป่วยที่ฝึกดมกลิ่นที่ผู้ป่วยคุ้นเคยบ่อยๆ จะมีโอกาสที่จะกลับมาได้กลิ่นอีกครั้ง หรือมีโอกาสที่จะได้กลิ่นมากขึ้นมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้ฝึกดมกลิ่นที่ผู้ป่วยคุ้นเคยบ่อยๆ

สาเหตุที่อาจทำให้ความสามารถในการรับกลิ่นแย่ลง และสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเหตุนั้น

1. อุบัติเหตุที่จะมากระทบศีรษะ ซึ่งอาจทำให้มีการบาดเจ็บของเส้นประสาทรับกลิ่นมากยิ่งขึ้น
2. การติดเชื้อไวรัส(การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน) ควรหลีกเลี่ยงเหตุที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายแย่ลง ได้แก่ ความเครียด นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ โดนหรือสัมผัสอากาศที่เย็นมาก เช่น นอนเปิดแอร์ หรือพัดลมเป่าจ่อ ไม่ได้ใส่เสื้อผ้า หรือไม่ได้ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายเพียงพอ การดื่มหรืออาบน้ำเย็น ตากฝน หรือสัมผัสกับอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น จากร้อนเป็นเย็น เย็นเป็นร้อน หรือมีคนรอบข้างที่ไม่สบายคอยแพร่เชื้อให้เราทั้งที่บ้านและที่ทำงาน นอกจากนี้ควรออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอ หรือ ออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็วขึ้นต่อเนื่องกัน เช่น วิ่ง, เดินเร็ว, ขึ้นลงบันได, ว่ายน้ำ, เตะฟุตบอล, เล่นเทนนิส, แบดมินตัน หรือบาสเกตบอล อย่างน้อยวันละ 30นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3วัน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสได้ดี
3. การสัมผัสกับยา, สารเคมี, สารพิษ กลิ่นฉุน ที่อาจสูดเข้าไปในโพรงจมูก หรือรับประทานเข้าไป แล้วทำให้มีการบาดเจ็บของเส้นประสาทรับกลิ่นมากยิ่งขึ้น

สำหรับท่านที่มีปัญหาเหล่านี้อยู่ ควรปรึกษาแพทย์ ปฎิบัติตัวอย่างถูกต้อง หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้อาการแย่ลงทุกชนิด รวมไปถึงการเลือกผลิตภัณฑ์ก็มีส่วนสำคัญไม่ใช่น้อย ควรศึกษา และเลือกสิ่งต่างๆ อย่างรอบคอบ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของท่านเอง

Shopping Cart