วิธีดูแลรักษาบาดแผลเบื้องต้น เพื่อป้องกันการอักเสบของบาดแผล และลดความเสี่ยงการติดเชื้อของบาดแผล

วิธีการดูแลรักษาบาดแผล

การใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคนนั้น มีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน อุบัติเหตุมักเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา เช่น สะดุดล้ม มีดบาด หรือสิ่งของตกใส่ เมื่อเกิดอุบัติเหตุสิ่งที่ตามมา คือ บาดแผล หากบาดแผลที่เกิดขึ้นมีขนาดเล็ก ตื้น หรือไม่รุนแรง ผู้ป่วยก็สามารถล้างทำความสะอาดแผลได้ด้วยตนเองที่บ้าน

ชนิดของบาดแผลไม่รุนแรง

สาเหตุที่ทำให้เกิดบาดแผลแตกต่างกันออกไป จึงทำให้บาดแผลมีลักษณะหลายรูปแบบ

แผลถลอก

ผิวหนังถูกขูดเป็นรอย เกิดจากการถูกเสียดสีกับวัตถุ หรือ พื้นผิวที่แข็ง หยาบ และขรุขระ ลักษณะของแผลชนิดนี้มักเป็นแผลตื้นๆ ที่ไม่ทำให้เลือดไหลซึมออกมามากนัก

แผลถูกบาด

แผลที่เกิดจากของมีคมบาด เช่น มีด เศษกระจก หรือ เศษแก้ว หรือ เศษขวด โดยแผลมักมีเลือดไหลออกมามากอย่างรวดเร็ว หากแผลถูกบาดลึกอาจสร้างความเสียหายให้แก่กล้ามเนื้อ เอ็นกล้ามเนื้อ หรือเส้นเอ็นได้

แผลฉีกขาด

ลักษณะเป็นแผลตัดลึก ผิวหนังฉีกขาดขอบไม่เรียบ มักมีเลือดไหลออกมาอย่างรวดเร็ว หรือ กระจายเป็นบริเวณกว้าง มักเกิดจากอุบัติเหตุในการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือเครื่องจักร

การปฏิบัติเมื่อตนเองมีบาดแผลเพื่อไม่ให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อ มีดังนี้
1. ทำความสะอาดบาดแผล โดยใช้แอลกอฮอลล์ 70% ทำความสะอาดผิวหนังรอบๆ บริเวณของบาดแผล
2. ระวังอย่าให้แผลเปียกชื้น หรือโดนน้ำ เพราะอาจจะทำให้เกิดการอักเสบ ติดเชื้อได้ หากผ้าพันแผลชื้น สกปรก ควรมาทำความสะอาดแผลใหม่ทันที
3. ลดการเคลื่อนไหว ที่อาจทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งแผลอาจหายช้ากว่าปกติ
4. เมื่อแผลเริ่มแห้งและสมานตัว กลายเป็นสะเก็ดแผล หรือ รอยแผลเป็น ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการแคะ แกะ หรือเกาแผล บริเวณที่แห้งและตกสะเก็ด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ผิวหนัง
5. ในกรณี! แผลถูกวัตถุปลายแหลมแทงลึก หรือแผลที่ถูกสัตว์กัด แพทย์อาจฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อบาดทะยัก หรือพิษสุนัขบ้าให้ หากท่านมีนัดฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก หรือพิษสุนัขบ้า ให้มาตามนัดที่กำหนดทุกครั้ง หากท่านไม่สะดวกสามารถเข้ารับวัคซีนที่โรงพยาบาลใกล้บ้านท่านได้ทันที เพื่อประโยชน์ในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคที่สมบูรณ์แก่ตัวท่านเอง
6. ในช่วงพักฟื้นบาดแผล อาหารก็มีส่วนสำคัญอย่างมาก ควรเลือกบริโภคอาหาร พวกเนื้อสัตว์ ถั่ว ไข่ขาว นม ผัก ผลไม้ และควรหลีกเลี่ยงของหมักดอง อาหารที่ทำให้เลือดออก เช่น โสม เครื่องดื่มชูกำลัง คอลลาเจน เป็นต้น
7. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

นี่เป็นเพียงการดูแลบาดแผลเบื้องต้นเท่านั้น ผู้ป่วยควรทำแผลหรือเข้ารับการทำแผลอย่างเหมาะสม และดูแลจนกว่าบาดแผลนั้นจะหายดี เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส หรือสิ่งสกปรกต่างๆ เข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล จนเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อนั่นเอง

 

Shopping Cart